วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การทำปลากัดสี

สำหรับ เดือนแห่งความรักและเดือนของการเฉลิมฉลองวันตรุษจีนที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ นี้ ผมจึงขอหยิบยกเอาปลากัดสีแดงซึ่งเป็นสีตัวแทนแห่งความรักและความมีโชคมีชัย มาทักทายท่านผู้อ่านกันนะครับ  ปลากัดสีแดงที่ท่านได้เห็นในรูปนั้น ผมได้พัฒนามาจากพ่อพันธุ์สีส้มและแม่พันธุ์ที่มีสีแดงที่เป็นแดงเลือดหมู  เพื่อหวังว่าจะได้ลูกปลากัดทั้ง 2 สี ในครอกเดียวกัน  แต่แล้วก็ไม่เป็นดั่งที่ผมตั้งใจไว้  เพราะลูกปลากัดที่ได้ออกมานั้น  เป็นปลากัดสีแดงทั้งครอกเลยครับ  แต่หากว่าลูกปลากัดสีแดงที่ได้มานี้ เป็นสีแดงที่สดกว่าเก่า เนื่องจากมีพ่อพันธุ์เป็นสีส้ม  จึงได้ลูกปลากัดที่มีสีแดงสดขึ้นครับเพราะสีส้มของพ่อพันธุ์นั้นทำให้สีแดงเลือดหมูของตัวแม่พันธุ์จางลง  จึงได้ลูกปลากัดออกมามีสีแดงที่สดใสกว่าเดิม  ในบางครั้งการเพาะปลากัดก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดเสมอ  หลายๆครั้งที่ผมได้ทำมา บางอย่างก็ไม่ได้ใน F เดียว  แต่ถ้าเราเอาลูกปลากัดครอกนี้ผสมกันเอง  เราก็จะได้ลูกปลากัดหลุดออกมาเป็นสีส้มในรุ่นลูกถึงรุ่นหลานแน่นอนครับ 
ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับนักเพาะมือใหม่นะครับ  ผมขอแนะนำว่าการหาพ่อ-แม่พันธุ์ ถ้าเป็นปลากัดสวยงามสีเดี่ยวไม่ว่าจะเป็นสีดำ, แดง, ส้ม, เหลือง, ขาว(โอเปค)  ควรพิจารณาเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ที่ไม่มีเมทัลลิคติด  ไม่มีเขม่าดำหรือตาข่ายดำหรือสีอื่นๆแทรกซ้อนมา  หรือถ้าหากมีก็ต้องให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จะหาได้  โดยเฉพาะปลากัดสวยงามที่เป็นปลาหนัง  ไหนๆเมื่อพูดถึงเรื่องปลาหนังกันแล้ว  บางท่านเป็นมือใหม่อาจยังไม่ค่อยเข้าใจศัพท์คำว่าปลาหนังดีนัก  ผมจึงขอขยายความเพิ่มเติมนะครับ  ปลา กัดสีเดี่ยวที่เป็นประเภทปลาหนังก็ได้แก่ สีแดง, สีดำ, สีเหลือง, สีส้ม, สีขาว(โอเปค ) ที่เรียกว่าปลาหนังก็เพราะปลากัดจำพวกนี้เป็นปลากัดที่ไม่มีเมทัลลิคติ ดเคลือบครับ  ซึ่งจะไม่มีความเงางาม  สำหรับปลาหนังบางตัว เช่น ปลากัดสีแดง ถ้ามีเมทัลลิคติดที่ตัวก็จะดูไม่สวยเพราะเมทัลลิคส่วนใหญ่จะเป็นจุดน้ำเงินหรือสีเขียวครับ  ซึ่งจะทำให้ดูไม่เป็นปลากัดสีเดี่ยว  ยกเว้นปลากัดที่เป็นสีเดี่ยวประเภทเกล็ดเคลือบเงาเมทัลลิค  เช่น ปลากัดสีน้ำเงิน, สีเทา, สีเขียว,สีทอง  จัดเป็นจำพวกปลากัดที่มีสีเมทัลลิคเคลือบครับ   ดัง นั้นเราจึงควรหาพ่อแม่พันธุ์ให้ถูกต้องถูกประเภทครับ ซึ่งการทำปลากัดสีเดี่ยวนั้นมีความยากกว่าการทำปลากัดแฟนซีที่จะใช้สีอะไร ผสมกันก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าต้องหาพ่อแม่พันธุ์ที่มีลักษณะเป็นปลาหนัง หรือเป็นปลาที่เคลือบเมทัลลิค 
และถ้าพูดถึงปลากัดสีขาวโอเปคนั้น จะมีลักษณะเป็นสีขาวแป้งทึบแสง ไม่มีเมทัลลิคเคลือบ  จึงจัดอยู่ในประเภทปลาหนัง  ซึ่ง แตกต่างจากปลากัดสีขาวแพล็ตตินั่ม ซึ่งเป็นปลากัดสีเดี่ยวเช่นกัน แต่เป็นปลากัดสีเดี่ยวที่มีเกล็ดเคลือบเงา เป็นสีเดี่ยวทั้งตัวครับ  สำหรับในวันนี้ ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้เพาะพันธุ์มือใหม่คงได้รับความรู้จากประสบการณ์ของผมไปไม่มากก็น้อยนะครับ  ฉบับหน้าเจอกันใหม่นะครับ

                                                                                                                จากลุงอ๋า (ปากน้ำ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น